ข้อควรรู้ในการใช้แผ่นประคบเย็น/แผ่นประคบร้อน อย่างถูกต้องและปลอดภัยในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง
เมื่อเกิดการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ซึ่งทำให้มีอาการปวด บวม หรือเกิดการอักเสบ การรักษาเบื้องต้นจึงสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อลดอาการเจ็บปวดที่รุนแรงได้ อาการดังกล่าวมักพบมากในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่นอนติดเตียงเป็นเวลานานๆ วิธีรักษาที่ง่ายที่สุด คือการรักษาด้วยแผ่นประคบเย็นและประคบร้อน
ประคบเย็น (Cold pack)
ความเย็นทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว ลดการไหลเวียนของเลือด
ข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยความเย็น
- การรักษาด้วยความเย็นจะใช้ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังจาการบาดเจ็บ
- ใช้ลดอาการบาดเจ็บเฉียบพลันที่มีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน
- ใช้ลดการบาดเจ็บปวดที่เกิดจากข้อต่ออักเสบ
- ใช้ลดไข้ ปวดศีรษะ
- รอยฟกช้ำ จากการกระแทก
ระยะเวลาในการรักษาด้วยความเย็น
ประคบบริเวณที่มีอาการ ควรใช้ผ้าขนหนูรอง และไม่ควรประคบนานเกิน 20 นาที 2-3 ครั้งต่อวัน
ข้อควรระวังในการรักษาด้วยความเย็น
- แผ่นประคบเย็นที่เย็นจัดไม่ควรวางบนผิวหนังโดยตรงนานเกิน 15-20 นาที
- ระวังในผู้ป่วย rheumatoid บางสภาวะ เช่น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้น (severe pain) ชา (numbness)
หรือสีผิวเปลี่ยนเป็นสีแดงซีด หรือสีม่วง (cyanosis) ควรเลิกใช้
- บริเวณแผลเปิด
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาการรับความรู้สึกผิดปกติ เบาหวาน ซึ่งอาจเกิดการพองจากน้ำแข็งกัดได้ หรือเย็นจนเนื้อเยื่อตาย
ข้อห้ามในการรักษาด้วยความเย็น
- โรคหลอดเลือดแข็งเกร็ง
- Cold hypersensitivity (ไวต่อการตอบสนองต่อความเย็น) อาจทำให้มีอาการบวมเป็นปื้น มีผื่นคัน หรืออาจทำให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว มีการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น
- โรคหลอดเลือดส่วนปลาย
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ประคบร้อน (Hot pack)
ความร้อนทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
ข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยความร้อน
- การรักษาด้วยความร้อนจะใช้หลังจากการบาดเจ็บ 48-72 ชั่วโมง
- ใช้หลังจากที่ไม่มีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่บาดเจ็บ
- ลดอาการปวดของกล้ามเนื้อและบริเวณข้อต่อเรื้อรัง
- ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
- เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- ลดอาการบวมในระยะเรื้อรัง
- เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว
ระยะเวลาในการรักษาด้วยความร้อน
ประคบบริเวณที่มีอาการ ควรใช้ผ้าขนหนูรอง และควรประคบนาน 15-20 นาที 2-3 ครั้งต่อวัน อุณหภูมิที่เหมาะสม 44-45 องศาเซลเซียส
ข้อควรระวังในการรักษาด้วยความร้อน
- การรับรู้ความรู้สึกบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย
- Hot hypersensitivity (ไวต่อการตอบสนองต่อความร้อน) อาจเกิดผิวพองแดงร้อน ผื่นคัน
- ผู้ที่สื่อความหมายไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยทางระบบประสาท เด็ก หรือผู้สูงอายุ
ข้อห้ามในการรักษาด้วยความร้อน
- โรคผิวหนังหรือผิวหนังอยู่ในระยะอักเสบเฉียบพลัน
- การไหลเวียนเลือดผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดอุดตัน
- แผลติดเชื้อ หรือแผลเปิด
- มะเร็ง หรือวัณโรคระยะติดเชื้อ