การพลิกตะแคงตัวและการจัดท่าทาง สำคัญอย่างไรต่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

การพลิกตะแคงตัวและการจัดท่าทาง สำคัญอย่างไรต่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียง….???

         การจัดท่านอนและพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการเกิดแผลกดทับ  โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้และต้องนอนบนเตียงนานๆ  การพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงอย่างช้าที่สุด ควรทำทุกๆ 2 ชั่วโมง เป็นเรื่องสำคัญ  โดยเฉพาะถ้าไม่ได้นอนบนที่นอนที่ช่วยลดแรงกดทับ หรือกระจายแรงกดทับโดยเฉพาะ เพราะถ้าเซลล์ใต้ปุ่มกระดูกขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่ออาจตายได้และเกิดเป็นแผลกดทับ  วิธีพลิกตะแคงผู้ป่วยติดเตียงอย่างง่าย 3 ท่า แก่ผู้ดูแล ดังนี้

ท่าที่ 1:  เริ่มด้วยท่าพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยหันเข้าหาผู้ดูแล นอนทับข้างที่แข็งแรงกว่า

  1. โดยอันดับแรก ต้องทำการแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าเดี๋ยวเราจะทำการพลิกตัวผู้ป่วยก่อน
  2. สังเกตดูว่าตัวผู้ป่วยต้องอยู่ไม่ห่างเกินเอื้อมของผู้ดูแล หากไกลเกินเอื้อมให้ขยับตัวผู้ป่วยเข้ามา แต่ก็ไม่ชิดขอบเตียงจนเกินไป ควรจะเหลือที่ประมาณนึงจากขอบเตียง เพื่อให้ผู้ป่วยมีพื้นที่หลังจากพลิกตัว และเพื่อป้องกันการพลาดพลิกตกเตียง นอกจากนี้ให้ตรวจดูว่า มีสิ่งกีดขวางหรือเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยวางอยู่บนเตียงหรือไม่ด้วย
  3. หาหมอน 2-3 ใบเพื่อรองแขนและขาผู้ป่วย โดยนำมาวางข้างลำตัวผู้ป่วยในด้านเดียวกับที่ผู้ดูแลยืนอยู่ เพื่อให้สะดวกในการหยิบหมอนหลังจากพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยเสร็จ
  4. เหยียดแขนผู้ป่วยด้านที่อยู่ใกล้กับผู้ดูแลออก ในท่าที่งอศอกเล็กน้อย
  5. บอกให้ผู้ป่วยทราบว่าผู้ดูแลจะพลิกตัว ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน (ควรบอกผู้ป่วยทุกครั้ง)
  6. จับแขนผู้ป่วยด้านตรงข้ามผู้ดูแลมาพาดที่ตัวผู้ป่วยเอง จับเข่าผู้ป่วยด้านตรงข้ามผู้ดูแลให้ตั้งขึ้น ถ้าเป็นขาข้างที่อ่อนแรงจะพบว่าขาของผู้ป่วยจะไหล (ทรงตัวไม่ได้) ดังนั้นผู้ดูแลควรจับเข่าของผู้ป่วยด้วยมือของผู้ดูแลไว้ พร้อมทั้งใช้ท่อนแขนประคองหัวเข่าและขาผู้ป่วยไว้ จากนั้นนำมืออีกข้างไปจับที่หัวไหล่ผู้ป่วยซึ่งเป็นด้านตรงข้ามผู้ดูแล พร้อมออกแรงทั้งสองมือพร้อม ๆ กัน ในการดึงตัวผู้ป่วยตะแคงมาทางผู้ดูแลอย่างนุ่มนวล
  7. อย่ารีบปล่อยมือออกจากตัวผู้ป่วยเพราะตัวผู้ป่วยอาจจะพลิกคว่ำหรือหงายกลับได้ ให้ค่อยๆ จัดท่าผู้ป่วยให้เรียบร้อยก่อน
  8. ในการจัดท่านอนตะแคงให้ผู้ป่วย สิ่งที่ต้องระวังคือใบหน้าของผู้ป่วยต้องไม่คว่ำ ขยับศีรษะของผู้ป่วยให้อยู่บนหมอนในท่าทางที่ถูกต้อง ไม่คว่ำหน้า ก้มหน้า เงยหน้ามากกว่าเกินไป สังเกตว่าผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวก ผู้ป่วยไม่ได้นอนทับไหล่ แขน มือ ของผู้ป่วยเอง ตรวจสอบว่าขา เข่า เท้า ให้อยู่ท่าทางที่ถูกต้อง ลำตัวของผู้ป่วยจะต้องอยู่ท่าที่ถูกต้อง ไม่บิดคดเอียงเช่นกัน รวมถึงตรวจสอบสายท่อต่างๆ ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่
  9. เมื่อตรวจสอบและจัดท่าทางเรียบร้อยแล้ว จัดหมอนที่เตรียมไว้รองแขนผู้ป่วย และจัดหมอนรองที่ขาข้างที่พลิกมาโดยขาจะอยู่ท่างอเล็กน้อย ส่วนขาด้านล่างให้เหยียดออก
  10. ปล่อยให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนในท่านี้ได้สักพัก แต่ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

                                       

ท่าที่ 2:  ควรเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วยเป็นท่านอนหงาย (ประมาณ 2 ชั่วโมง) 

  1. ทำการแจ้งให้ผู้ป่วยรู้ก่อน ว่าเราจะทำการพลิกหงายให้ผู้ป่วย
  2. นำหมอนที่หนุนรองบริเวณหลัง แขน และขาในท่านอนตะแคงออก ตรวจสอบดูว่า ไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือสิ่งที่อาจเป็นอันตรายขวางอยู่บนเตียง
  3. ให้ผู้ดูแลประคองจับที่สะบักไหล่ และสะโพกของผู้ป่วยด้านที่ไม่นอนทับ ออกแรงดันผู้ป่วยให้พลิกหงายพร้อมๆ กัน อย่างนุ่มนวล ระวังอย่าให้เกิดการพลิกกระแทกของแขน ขา และลำตัว
  4. จัดศีรษะผู้ป่วยให้สูงประมาณ 30-60 องศา หรือไม่สูงจนเกินไป (ระวังไม่ให้คอผู้ป่วยพับ) พร้อมกับสังเกตว่าการหายใจของผู้ป่วยต้องเป็นปกติด้วย
  5. รองข้อเข่าทั้ง 2 ข้างด้วยหมอนใบเดิม
  6. วางผ้าขนหนูหรือหมอนใบเล็กที่บริเวณตาตุ่ม (ข้างที่อ่อนแรง) เพราะตาตุ่มอาจไปกดทำให้เป็นแผลกดทับได้
  7. แขน 2 ข้างวางไว้ที่ข้างลำตัว แขนข้างที่อ่อนแรงควรรองหมอนใต้ข้อศอกเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับจากข้อศอก
  8. ปล่อยให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนในท่านี้ได้สักพัก แต่ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

ท่าที่ 3:  ท่าพลิกตัวผู้ป่วยมาทับข้างที่อ่อนแรง

  1. ทำการแจ้งให้ผู้ป่วยรู้ก่อนเหมือนทุกครั้ง ว่าเราจะทำการพลิกตะแคงให้ผู้ป่วย ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน
  2. จัดระยะห่างระหว่างผู้ป่วยกับขอบเตียงให้เหมาะสม พร้อมทั้งเตรียมหมอนให้พร้อมเหมือนท่า1
  3. ผู้ดูแลยืนด้านอ่อนแรงของผู้ป่วย จากนั้นผู้ดูแลค่อย ๆ กางไหล่ของผู้ป่วยด้านที่อยู่ใกล้กับผู้ดูแลออกเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ขวางขณะพลิกตะแคงมา (การเหยียดแขนด้วยความแรงไหล่อาจหลุดได้)
  4. จับเข่าผู้ป่วยด้านตรงข้ามผู้ดูแลตั้งขึ้น (ถ้าผู้ป่วยพอมีแรง ผู้ดูแลควรบอกให้ผู้ป่วยช่วยขยับเข่าตั้งขึ้นเอง) จากนั้นผู้ดูแลจับที่หัวไหล่และเข่าและพลิกตัวผู้ป่วยเข้าหาผู้ดูแลอย่างช้าๆ
  5. เมื่อผู้ป่วยพลิกตะแคงมาแล้ว ให้จัดท่าทางต่างๆ ในลักษณะเดียวกับการพลิกตะแคงในท่าแรก โดยสิ่งที่ต้องระวังในท่านี้คือ ใบหน้าของผู้ป่วยต้องไม่คว่ำ
  6. ในท่านี้ลำตัวของผู้ป่วยจะมาทับไหล่ซึ่งเป็นข้างที่อ่อนแรง ดังนั้นผู้ดูแลควรดันผู้ป่วยกลับไปนิดนึง และหาหมอนมารองที่หลังผู้ป่วยด้วย
  7. จัดหมอนที่เตรียมไว้รองแขนผู้ป่วย และจัดขาข้างที่พลิกมาโดยสอดหมอนที่เตรียมไว้รองขาในท่ากึ่งงอเล็กน้อย ส่วนขาอีกข้างของผู้ป่วยให้จับเหยียดออก